สำรวจเส้นทางความสำเร็จของการศึกษาจังหวัดสตูล

“ทำอย่างไรให้กองทุนหมู่บ้านให้กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง”  “ทำอย่างไรจึงจะลดค่าไฟฟ้าของชุมชนได้” หากผู้ใหญ่เป็นคนตั้งคำถามเหล่านี้ก็เป็นเรื่องทั่วไป แต่ที่น่าแปลกใจคือ เด็ก ๆ ในจังหวัดสตูลเป็นคนตั้งคำถามและยังสามารถหาคำตอบได้อย่างน่าสนใจ 

โดยเด็ก ๆ กลุ่มแรกวางแผนหาข้อมูลและคำนวณว่า กองทุนติดลบเท่าไร ใครไม่คืนหนี้ และแล้วก็พบว่าเป็นคนในครอบครัว เด็ก ๆ จึงรีบไปสอบถามและสามารถทำให้ญาตินำเงินมาคืนกองทุนหมู่บ้านได้ นอกจากเด็ก ๆ ได้ฝึกการทำบัญชี การสื่อสาร อีกมุมหนึ่งเด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนหมู่บ้าน และแสดงออกผ่านการเป็น active citizen ซึ่งก็ทำให้ชุมชนของตนเองมีความเข้มแข็งอีกครั้ง

เด็กกลุ่มที่สอง เริ่มหาคำตอบโดยการนำใบเสร็จค่าไฟฟ้าของทั้งชุมชนมาคำนวน ศึกษาวิธีการลดค่าไฟฟ้าและนำมาสอนคนในชุมชนในเดือนต่อมา เมื่อนำใบเสร็จมาคำนวนใหม่พบว่าค่าไฟฟ้าลดไป 2 แสนบาท

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่แค่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตัวเด็กให้มีทักษะ ความรู้ สมรรถนะ และเจตคติ แต่ขยายไปถึงการสร้างผลกระทบ (impact) ครอบคลุมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งนี่คือ ตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการศึกษาของจังหวัดสตูลและยังมีอีกหลายตัวอย่างที่น่าติดตาม

สำหรับบทความนี้จะเล่าถึงเส้นทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดสตูล เคล็ดลับหรือหัวใจสำคัญของกระบวนการทั้งหมด โดยระหว่างทางสตูลต้องเจอความท้าทายหลายอย่าง ซึ่งน่าสนใจว่าสตูลเตรียมรับมือกับความท้าทายอย่างไร 

เส้นทางนี้เริ่มต้นจากหัวใจของการเรียนรู้: RBL-ครูสามเส้าหลักสูตรภูมิสังคม

สตูลมีโมเดลการจัดการเรียนรู้ที่ครอบคุลมหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ เริ่มจากสตูลใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ Research-based learning” หรือ RBL โดยรายละเอียด คือ นำขั้นตอนและกระบวนการวิจัยมาเป็นกระบวนการหลักของการเรียนรู้ ทำให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งเด็กได้เรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัว ทำความรู้จักชุมชน สำรวจชุมชนผ่านเครื่องมือต่าง ๆ (Social mapping) เก็บข้อมูลในชุมชนในเรื่องทุนมนุษย์ ทุนเงินตรา ทุนทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม และทุนภูมิปัญญา จากนั้นเด็ก ๆ จึงนำประเด็นหรือสิ่งที่ค้นพบมาพัฒนาเป็นโจทย์วิจัย และศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมหรือแก้ปัญหา แก้โจทย์วิจัยนั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่า การที่เด็ก ๆ จะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องมีครูเป็นผู้สนับสนุน โดยสตูลใช้ “รูปแบบครู เส้า” คือ ครูจากสามส่วนหรือสูตร 30-30-40 ได้แก่ ครูในโรงเรียน ครูชุมชน และครูพ่อแม่ 

สำหรับครูในโรงเรียนจะเป็นผู้วางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามขั้นตอนโครงงานฐานวิจัยเพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับเด็ก ๆ พาสำรวจชุมชนเพื่อค้นหาประเด็นที่เด็กสนใจ และร่วมกันพัฒนาให้เป็นโจทย์วิจัย ครูในโรงเรียนจึงเปรียบเสมือนโค้ชที่ช่วยให้คำแนะนำและตั้งคำถาม รวมถึงการประเมินพัฒนาการของเด็กในชั้นเรียน และการเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้กับครูอีก 2 เส้า คือ ครูในชุมชน ผู้เข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อม และครูพ่อแม่ ผู้เข้ามาร่วมสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอนการบ้าน ทำกิจกรรมร่วมกับลูก และร่วมออกแบบกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้กับโรงเรียน 

ครูโรงเรียนจะใช้ “หลักสูตรภูมิสังคม” เป็นเหมือนแผนที่ในการกำหนดทิศทางการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ร่วมกับครูชุมชนและครูพ่อแม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่ผสมผสานระหว่างสาระเนื้อหาที่จำเป็นตามหลักสูตรแกนกลางฯ และสาระเนื้อที่ยึดโยงกับชุมชน ดังนั้นแม้อยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่โรงเรียนอาจจะมีส่วนประกอบของหลักสูตรที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ที่จะร่วมออกแบบหลักสูตรนี้ คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักสูตรแกนกลาง เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ครู กลุ่มที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ชุมชนหรือภูมิปัญญา เช่น พ่อแม่ ครูชุมชน และเด็กนักเรียนที่เป็นกลุ่มสำคัญที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรที่ตนเองจะใช้เรียนรู้

อย่างไรก็ตาม ในการทำครั้งแรกนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมากโดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะเป็นกระบอกเสียงและชักชวนคนในชุมชนมาร่วมกระบวนการออกแบบหลักสูตรด้วยกัน

เสียงและแรงของชุมชน เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจสำคัญของการเรียนรู้บนเส้นทางการพัฒนา

การที่คนสตูลตระหนักว่า “การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน ไม่ใช่แค่หน้าที่ของโรงเรียน” ทำให้เกิดความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับหัวใจของการเรียนรู้ทั้งสามองค์ประกอบ และนำมาสู่การผลักดันเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดจนเป็น “วาระจังหวัดสตูล” มีกลุ่มคนนอกวงการการศึกษาอย่างกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่จังหวัดสตูล (YEC) และหอการค้าจังหวัด แม้ไม่ได้มีบทบาทโดยตรงกับเรื่องการจัดการศึกษา แต่ก็เข้ามามีส่วนร่วมเชิงรุกในการพัฒนาการศึกษาจังหวัด เริ่มตั้งแต่การร่วมกันตั้งเป้าหมาย วางแผนกลยุทธ์ ทำงานร่วมกันกับกลุ่มคนด้านการศึกษา ทั้งสมาคมผู้ปกครองของจังหวัดสตูล ทีมวิชาการ (โรงเรียนแกนนำ นักวิจัยของพื้นที่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล) จนทำให้นวัตกรรม RBL ครูสามเส้า และหลักสูตรภูมิสังคมของคนสตูลกลายเป็นที่ยอมรับ และโรงเรียนหลายแห่งก็ได้นำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้กับบริบทของตนเองและกระจายในวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนี้ ทีมจังหวัดนำโดยสมาคมผู้ปกครอง และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็ได้สร้างแพลทฟอร์ม “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ปี 2563” เพื่อจัดการและแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายการศึกษาและผลการทำงานจริงของโรงเรียน[1] โดยทุก ๆ คน สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับหน้างานของตนเองได้ อย่างเช่น ครูอาจใช้ข้อมูลดังกล่าวกับการวางแผนการจัดการโครงงานร่วมกับเด็ก ทีมวิชาการของพื้นที่ใช้ข้อมูลคอยติดตามสนับสนุนการทำงานของครู คนภายนอกก็สามารถติดตามเส้นทางความสำเร็จของการจัดการศึกษาของโรงเรียนผ่านข้อมูลนั้น ๆ เพื่อคอยสนับสนุนโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

ความท้าทายระหว่างทางเดินสู่ความสำเร็จของการศึกษาสตูล

แม้ว่าความสำเร็จของการศึกษาสตูลปรากฏชัดเจนในตัวเด็ก ๆ ที่มีทักษะ สมรรถนะมากขึ้น มีโรงเรียนเข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมเพิ่มจากโรงเรียน 10 เป็น 14 แห่งในปีที่แล้ว แต่นี่อาจยังไม่สามารถจูงใจครูส่วนใหญ่ทั้งจังหวัดมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กได้มากนัก ซึ่งเราพบว่า ครูจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไปบรรจุ หรือ ย้ายไปโรงเรียนที่ยังคงจัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม หรือ ไม่เลือกที่จะย้ายเข้าโรงเรียนอนุบาลสตูล หรือโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม เพราะเป็นกลุ่มโรงเรียนที่ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม ซึ่งก็อาจเป็นความจริงเพราะการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ต้องลงทุนด้วยเวลา ทรัพยากร และหัวใจ และครูอาจจะต้องทำงานตามระบบเดิมและใหม่ (หรือ เรียกง่ายๆว่า ระบบ 2 ซิม) หากยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงถือได้ว่า นี่คือความท้าทายของทีมพื้นที่ที่จะดึงดูดครูใหม่ๆที่มีใจเข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง และรักษาครูกลุ่มเดิมไว้ และร่วมพัฒนาขับเคลื่อนไปด้วยกัน 

อีกความท้าทาย คือ การขับเคลื่อนท่ามกลางการทำงานตามสายงานราชการ ระบบการติดตามงานจุดเน้นตามนโยบายของกระทรวง ทำให้ผอ. เขตพื้นที่ฯ และศึกษานิเทศก์ ยังคงต้องใช้รูปแบบการติดตามงานโครงการในรูปแบบเดิม ๆ เช่น ติดตามรายปี ติดตามเป็นรอบการทำงานประจำ จึงไม่สามารถเห็นพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

การเอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม

สตูลเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของพื้นที่นวัตกรรม ซึ่งมีกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ที่จะขับเคลื่อนการศึกษาของการจังหวัด โดยทำงานร่วมกันผ่าน “คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม” ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนในและนอกวงการการศึกษา ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ของจังหวัดสตูล 

คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมเป็นหมากสำคัญที่สามารถเอาชนะความท้าทายข้างต้น โดยการรับฟังและเป็นกระบอกเสียงในกับทีมพื้นที่ที่จะส่งต่อความต้องการให้กับคณะกรรมการนโยบายส่วนกลางให้รับรู้ เช่น เรื่องขวัญกำลังใจของครูที่ทุ่มเทกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนี้  และอีกบทบาท คือ การคิดหานวัตกรรมการบริหารจัดการระดับพื้นที่ ทำงานข้ามหน่วยงาน ร่วมตั้งเป้าหมาย ทำงานร่วมกัน เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เปลี่ยนการสั่งการเป็นการให้สนับสนุนการทำงานของโรงเรียน อาจเริ่มจากการร่วมกับทีมกลไกไม่เป็นทางการของจังหวัดในการต่อยอดแพลทฟอร์ม“พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ปี 2563 ให้เป็นฐานข้อมูลระดับจังหวัดที่มีสมบูรณ์ครบถ้วน และในไม่ช้าสตูลอาจมีอีกหนึ่งนวัตกรรมการบริหาร ที่สามารถเป็นต้นแบบความสำเร็จของการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อช่วยกันพัฒนาการศึกษาของจังหวัดด้วยเป้าหมายเดียวกัน

หากใช้กลไกของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เปรียบเสมือนช่องทางด่วนที่จะทำให้ความสำเร็จของการศึกษาสตูลไม่หยุดอยู่แค่ “จากนักเรียนสู่ชุมชน” แต่จะขยายไปถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ระดับส่วนกลาง ที่จะเห็นสตูลเป็นต้นแบบความสำเร็จของการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการศึกษา เพราะ ทุก ๆ คนทั้งในกลไกทางการและไม่เป็นทางการร่วมด้วยช่วยกัน ส่งเสริมให้คนหน้างานอย่าง ทีมครู ทีมผอ. ทีมเขตพื้นที่ฯ และทีมโค้ช ทำงานพัฒนาโรงเรียนได้ราบรื่น จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมกับเด็กและสังคม ซึ่งบทสรุปสุดท้าย ก็คือ บทเรียนสตูลจะทำให้เราตระหนักได้ว่า “การศึกษาคือหน้าที่ของทุก ๆ คน”


[1] https://datastudio.google.com/u/0/reporting/5a4f0683-e835-45c2-8521-06401a0f72b3/page/VcQvB

โดย ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์

ที่มา: การสัมภาษณ์เชิงลึกทีมพื้นที่สตูล + ข้อมูลจากงานสัมมนา โรงเรียน Sandbox ป. 2/7: การศึกษาที่เปลี่ยนไปในพื้นที่นวัตกรรม

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ