tdri logo
tdri logo
12 พฤษภาคม 2020
Read in Minutes

Views

จะดูแลคุณภาพชีวิตเด็กไทยอย่างไรในวันที่ ปิดโรงเรียน จากโควิด-19?

ณัฐนันท์ อมรานันทศักดิ์

โรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงสถานที่จัดการศึกษา แต่ยังให้บริการสวัสดิการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก เมื่อมีมาตรการปิดโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดขึ้นกับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนอื่นที่กระทบคุณภาพชีวิตของเด็กไปด้วย ทั้งด้านโภชนาการ ความปลอดภัยและสุขภาพจิต

ด้านโภชนาการของนักเรียน

ในประเทศไทย โรงเรียนรัฐทุกแห่งได้รับเงินอุดหนุนสำหรับจัดสรรอาหารกลางวันและนมให้เด็กทุกคนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจนถึงระดับประถมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขด้านสถานะทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลโครงการอาหารกลางวันทั่วโลกของ The Global Child Nutrition Foundation พบว่า เงินอุดหนุนดังกล่าวครอบคลุมเด็กประถมของไทยจำนวนเกือบ 4.1 ล้านคน มาตรการปิดโรงเรียนจึงอาจทำให้เด็กเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว

แม้จะเป็นเพียงมื้อเดียวของวัน อาหารกลางวันที่โรงเรียนอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะได้รับสารอาหารครบถ้วนของกลุ่มเด็กในพื้นที่ชนบทหรือกลุ่มที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน ซึ่งมีแนวโน้มน้ำหนักร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นในวัยเดียวกัน ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า จากนักเรียนยากจนพิเศษทั้งหมดจำนวน 720,946 คน มีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 29,991 คนที่มีภาวะทุพโภชนาการ (น้ำหนักและส่วนสูงไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด)

ในช่วงที่ใช้มาตรการปิดโรงเรียน รัฐควรเร่งหาแนวทางประกันสวัสดิการนี้ให้คงอยู่ต่อไป โดยประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีหน้าที่จัดสรรนมและอาหารกลางวัน เพื่อหาแนวทางการจัดสรรงบประมาณใหม่สำหรับสร้างหลักประกันด้านโภชนาการแก่นักเรียนในช่วงกักตัวอยู่บ้าน เช่น จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ครอบครัวนักเรียนโดยตรง หรือใช้แนวทางแบบสหราชอาณาจักร ที่ให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้แจกอาหารให้ครอบครัวนักเรียน หรือให้เป็นคูปองเพื่อนำไปแลกอาหารกับร้านค้าในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ รัฐควรให้ความรู้ทางด้านโภชนาการแก่ครอบครัวนักเรียนในช่วงปิดโรงเรียน

ด้านความปลอดภัยและสุขภาพจิตของนักเรียน

ในบทความ ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ดร. บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร ได้ยกบทเรียนจากหลายประเทศที่แสดงให้เห็นว่า อัตราความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ในช่วงมาตรการปิดเมืองและมาตรการกักตัวอยู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีนและเขต Nassau ในนิวยอร์ก เหตุการณ์แพร่ระดับของเชื้ออีโบล่าในแอฟริกาช่วงปี พ.ศ. 2557-2559  ตลอดจนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และประชาชนต้องติดอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน

แม้ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติเรื่องการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่ใช้มาตรการกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่ข้อมูลในช่วงปกติที่ผ่านมาก็เตือนให้เราเห็นว่า โดยปกติเด็กและผู้หญิงในประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความรุนแรงค่อนข้างสูง ความเสี่ยงของปัญหาดังกล่าว จากการสำรวจพหุดัชนีแบบจัดกลุ่ม (Multiple Indicator Cluster Survey: MISC) ขององค์การ UNICEF ประเทศไทย พบว่า สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความรุนแรงค่อนข้างสูง เห็นได้จากจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนกว่าร้อยละ 75 เคยถูกผู้ดูแล (Caregivers) ทุบตี (Physical Punishment) หรือทำร้ายทางจิตใจ (Psychological Aggression) และในแต่ละปี มีเด็กมากกว่า 10,000 คนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยส่วนใหญ่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse)  สาเหตุเป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งของไทยยังเชื่อว่า การทำร้ายร่างกายเพื่อลงโทษเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนบุตรหลานของตน

ดังนั้นในช่วงที่ปิดโรงเรียน เด็กไทยจำนวนหนึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะประสบกับความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เพราะในช่วงเปิดเรียนปกติ เด็กกลุ่มนี้สามารถหลบหลีกปัญหาได้จากการไปโรงเรียน พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ โดยมีครูคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด

บทเรียนจากต่างประเทศด้านมาตรการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ เช่น มอบหมายครูเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว มีบริการสายด่วนในการช่วยเหลือเด็ก หรือในกรณีหมู่เกาะคานารี่ ประเทศสเปน ที่ใช้โค้ดลับ ‘MASK 19’ รับมือกับปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวางแผนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและร้านขายยาในชุมชน เมื่อได้รับโค้ดลับ เภสัชกรก็จะช่วยติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับดำเนินการต่อไป เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เด็กจะเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวในช่วงดังกล่าว ครูควรคอยสอดส่องสัญญาณของความรุนแรงและให้ความรู้เรื่องสายด่วนขอความช่วยเหลือในประเทศไทยกับเด็กๆ สำหรับเด็กที่ไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้หรือไม่กล้าสื่อสาร ครูอาจช่วยได้ด้วยการสร้างโค้ดลับระหว่างครูและนักเรียนเพื่อให้นักเรียนใช้สื่อสารกับครู ว่ากำลังประสบกับความรุนแรงในบ้านอยู่ โดยไม่ให้ผู้กระทำทราบ ส่วนกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต้นสังกัด ควรประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อวางมาตรการป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งแนวทางการสังคมสงเคราะห์เมื่อเด็กเผชิญกับความรุนแรง

หลังยกเลิกมาตรการปิดโรงเรียนและสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนควรช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดู เพื่อไม่ให้เด็กได้รับความรุนแรงและผลกระทบทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูที่ผิด   ในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาจัดสรรให้มีตำแหน่งนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนอย่างจริงจังและประสานกับหน่วยงานทางด้านสังคมสงเคราะห์ในระดับชุมชน เพื่อสร้างระบบการดูแลความปลอดภัยและสุขภาพจิต ทั้งนี้เพื่อให้ครูมีหน่วยสนับสนุน ไม่ต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กเพียงลำพัง รวมถึงเป็นหลักประกันความปลอดภัยของเด็ก ในกรณีที่โรงเรียนเองก็เป็นพื้นที่ของความรุนแรง

* * *

ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)

1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง
10ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
11ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19
125 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”
13การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?
14จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด