เตรียมความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะไทย ในสถานการณ์โควิด-19

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
ณิชมน ทองพัฒน์

ปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนในหลายประเทศ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 ประชากรประมาณ 2.6 พันล้านคนทั่วโลกอยู่ภายใต้การล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส หลายประเทศปิดพรมแดนและประกาศเคอร์ฟิวส่งผลให้การเดินทางลดลงอย่างมากทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการขนส่งทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกฎเกณฑ์ห้ามการเดินทางและประชาชนที่หลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

ในประเทศไทยช่วงที่มีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลได้ออกมาตรการล็อคดาวน์ ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกจากเคหสถานในช่วงเวลา  22.00–04.00 น. และให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่จำเป็น ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตาม พ.ร.ก. การบริหารสถานการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 5[1] อีกทั้งขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการกำหนดมาตรการให้ทำงานจากที่บ้านและยังมีมาตรการต่างๆ ด้านการเดินทางภายในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อย่างมาตรการเพิ่มจำนวนรถและความถี่ในการให้บริการของแต่ละการประกอบการ เช่น ขสมก. ได้เพิ่มรถโดยสารประจำทางที่ให้บริการเป็น 2,500–2,600 คัน/วัน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนำขบวนรถ 36 ขบวนออกให้บริการและปรับความถี่ปล่อยรถช่วงเร่งด่วนเป็น 3.5–4.5 นาที/ขบวน รถไฟฟ้าสายสีม่วงนำขบวนรถ 12–16 ขบวนออกให้บริการและปรับความถี่ปล่อยรถในช่วงเร่งด่วนเป็น 4–5 นาที/ขบวน และรถไฟฟ้า BTS นำขบวนรถ 98 ขบวนออกให้บริการ[2]

นอกจากนี้ บริการขนส่งสาธารณะยังกำหนดมาตรการเพื่อการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการเดินทาง ทั้งการจัดให้มีการนั่งที่เว้นที่  การปล่อยผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าเป็นกลุ่ม (Group Release) ตามจำนวนที่กำหนด หรือการกำหนดให้ประชาชนเข้าสู่ชานชาลาเป็นรอบๆ  ใน 3 ตอน คือ ก่อนขึ้น-ลงเข้าสู่ชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร ก่อนผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และก่อนเข้าสู่ขบวนรถ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้บริการหนาแน่นเกินไปในขบวนรถไฟฟ้าและชานชาลา[3]

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้นลดลง และเริ่มสามารถควบคุมได้ ภาครัฐจึงเริ่มมีนโยบายผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ที่มีอยู่ ทำให้กิจการต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนกลับมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอีกครั้ง ทั้งการเดินทางในระยะทางสั้นและเดินทางข้ามจังหวัด ทั้งนี้ ก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการผ่อนปรนได้นั้น ควรจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากการใช้บริการขนส่งสาธารณะ

สำรวจมาตรการของต่างประเทศ

ในต่างประเทศได้มีมาตรการและแนวปฎิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม คำแนะนำขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสารในต่างประเทศและระหว่างประเทศที่สำคัญอย่าง American Public Transport Association (APTA)[4], International Organization for Public Transport Authorities and Operators (UITP)[5], The Shenzhen Bus Group Company[6] และ International Union of Railways (UIC) [7] ล้วนให้คำแนะนำที่ตรงกันดังต่อไปนี้

  • มาตรการทำความสะอาดยานพาหนะและสถานีอย่างสม่ำเสมอ
  • การฝึกอบรมด้านการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคแก่เจ้าหน้าที่ที่ต้องมีการติดต่อกับผู้โดยสาร
  • การดูแลเจ้าหน้าที่ให้มีอุปกรณ์เพียงพอ เช่น ถุงมือ แอลกอฮอล์ล้างมือ กระจกกั้นที่ขายตั๋ว ฯลฯ
  • การคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

มาตรการเหล่านี้ถือได้ว่าเป็น “มาตรฐานสากลขั้นต่ำ” ในการดูแลผู้โดยสารช่วงการระบาดของโควิด-19 ในระบบขนส่งสาธารณะ และนอกเหนือจากมาตรการพื้นฐานดังกล่าวแล้ว บางประเทศได้ใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวด โดยการระงับการขนส่งสาธารณะทั้งหมด เช่น เมืองอู่ฮั่นและหวงกังในประเทศจีน และกรุงเดลีในประเทศอินเดีย เป็นต้น

ในประเทศที่มาตรการระงับการให้บริการขนส่งสาธารณะไม่อาจเป็นไปได้ จะต้องหามาตรการในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้ออย่างเร่งด่วน ซึ่งจากกรณีศึกษาการติดเชื้อของผู้โดยสาร 9 คนที่ใช้บริการรถโดยสารทางไกลเมืองหูหนาน ประเทศจีน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 พบว่าผู้โดยสารทั้ง 9 คนไม่สวมหน้ากากอนามัย[8] ในขณะที่เชื้อโควิด-19 มีชีวิตอยู่ในอากาศได้ถึงอย่างน้อย 30 นาที จึงได้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ

หลายประเทศพยายามลดความแออัดในระบบขนส่งสาธารณะ ดังตัวอย่างของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ออกมาตรการลดจำนวนเที่ยวรถที่ให้บริการ เพื่อลดการเดินทางและโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่เป็นการกำหนดมาตรการอย่างกะทันหันโดยขาดการประเมินผลกระทบ (Impact Assessments) ขณะที่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำงานจากบ้านได้ การลดจำนวนเที่ยวรถ จึงกลับทำให้เกิดความแออัดในระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีจำนวนประชาชนเดินทางต่อเที่ยวเพิ่มมากขึ้น[9] 

ในทางตรงกันข้าม กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งแม้ว่าจำนวนประชากรที่ต้องการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะลดลงถึงประมาณ 75% แต่ยังใช้มาตรการเพิ่มเที่ยวเดินรถเพื่อลดความแออัดระหว่างผู้โดยสาร สอดคล้องกับแนวทางของ Berliner Verkehrsbetriebe (BVG) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีที่ได้ปรับตารางการเดินรถแม้ว่ามีปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมากก็ตาม

นอกจากนี้ บางประเทศพยายามควบคุมปริมาณของผู้โดยสารและลดความแออัดบนขบวนรถไฟใต้ดินผ่านระบบการจองล่วงหน้าสำหรับบริการรถไฟใต้ดิน (Subway by Appointment)[10]  โดยเมืองเชินเจิ้นและปักกิ่งในประเทศจีนได้ทดลองนำระบบนัดหมายผ่านแอปพลิเคชั่นมาใช้ลดความแออัดในสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากในช่วงเร่งด่วน โดยผู้โดยสารสามารถนัดหมายเพื่อเข้าสู่สถานีรถไฟใต้ดินผ่าน QR-Code บนโทรศัพท์มือถือ และจะได้รับการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือให้เข้ามายังสถานีเมื่อถึงเวลาที่กำหนด

ข้อเสนอสำหรับระบบขนส่งสาธารณะของไทย

ผู้โดยสารจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ งดพูดคุย รวมทั้งงดคุยโทรศัพท์ และงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มในระบบขนส่ง และจะต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด โดยหากสามารถทำได้ ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้รถขนส่งสาธารณะที่แออัด เช่น ต้องยืน  

ผู้ประกอบการควรจัดให้มีการทำความสะอาดยานพาหนะและระบบที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการตรวจสอบพนักงานว่าปลอดเชื้อ และพยายามลดการสัมผัสระหว่างพนักงานกับผู้โดยสารโดยเพิ่มช่องทางการจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น นอกจากนี้ สำหรับระบบที่มีจุดขึ้นลงที่สามารถดำเนินการคัดกรองผู้โดยสารก่อนใช้บริการได้ เช่น รถไฟฟ้า หรือรถโดยสารประจำทางที่มีสถานีขนส่ง ผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรการคัดกรองผู้ใช้บริการ โดยให้มีการตรวจอุณหภูมิร่างกายก่อนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายของเชื้อ

สำหรับมาตรการในด้าน Social Distancing เพื่อลดความแออัดของการใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้น ผู้ประกอบการควรจัดให้มีเที่ยววิ่งที่เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสาร ควรพิจารณาที่นั่ง ที่ยืนที่เหมาะสม ทั้งปรับเพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งในช่วงเวลาที่มีคนเดินทางกลับที่พักในช่วงค่ำก่อนเวลาเคอร์ฟิว  

อย่างไรก็ดี สำหรับระบบขนส่งที่มีจำนวนที่นั่งและที่ยืนจำกัดมาก อาจเป็นไปได้ยากที่จะจัดให้นั่งโดยเว้นระยะห่างกันมาก การกำหนดให้สวมหน้ากากอนามัย จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจควบคุมปริมาณผู้ใช้บริการได้โดยนำวิธีการจองล่วงหน้ามาใช้กับการขนส่งระหว่างเมือง เช่น รถไฟระหว่างเมือง รถตู้ระหว่างเมือง หรือรถโดยสารระหว่างเมือง เป็นต้น

ภาครัฐควรส่งเสริมให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนสนับสนุนนโยบาย Work from Home ต่อไป เพื่อลดจำนวนคนที่ต้องเดินทางไปทำงาน หรือสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน นอกจากนี้ การกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟ เพื่อกำกับดูแลและสร้างความมั่นใจในการควบคุมโรคให้กับผู้ใช้บริการ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐควรดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ได้เสนอให้ผู้ประกอบการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระบบการขนส่งสาธารณะย่อมจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากการรักษาความสะอาดที่เพิ่มขึ้น การจัดให้มีอุปกรณ์คัดกรองผู้โดยสารที่จำเป็น และการเพิ่มเที่ยววิ่งรถขณะที่ปริมาณผู้โดยสารไม่ได้มีจำนวนมากเท่าสถานการณ์ปกติ เป็นต้น ดังนั้น การหาแนวทางเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างสมเหตุผลจึงเป็นโจทย์สำคัญต่อไปของภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในระบบขนส่งสาธารณะดังกล่าวบรรลุผล


[1] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีผลบังคับใช้วันที่ 3 พฤษภาคม 2563

[2] ประชาชาติธุรกิจ (2563) “คมนาคม” รีสตาร์ตเต็มรูปแบบ รับมือการเดินทางทุกโหมด เพิ่มระบบขนส่งคลายล็อกดาวน์ธุรกิจ, เข้าถึงได้จาก https://www.prachachat.net/property/news-462227

[3] ไทยพีบีเอส (2563) กรมขนส่งทางรางสั่งเน้นมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม, เข้าถึงได้จาก https://news.thaipbs.or.th/content/292172

[4] “MANAGEMENT OF COVID-19: GUIDELINES FOR PUBLIC TRANSPORT OPERATORS” American Public Transport Association, https://www.uitp.org/management-covid-19-guidelines-public-transport-operators, Accessed by May,11 2020

[5] MANAGEMENT OF COVID-19: GUIDELINES FOR PUBLIC TRANSPORT OPERATORS” International Organization for Public Transport Authorities and Operators, https://www.uitp.org/management-covid-19-guidelines-public-transport-operators, Accessed by May,11 2020

[6] “Combating Covid-19: The Shenzhen Bus Group’s Experience”, Transformative Urban Mobility Initiative, https://www.transformative-mobility.org/news/combating-covid-19-the-shenzhen-bus-groups-experience, Accessed by May,11 2020

[7] “MANAGEMENT OF COVID-19 GUIDANCE FOR RAILWAY STAKEHOLDERS”, International Union of Railways, https://uic.org/IMG/pdf/uic-management-of-covid-19-guidance-for-railway-stakeholders.pdf, Accessed by May,11 2020

[8] “Coronavirus can travel twice as far as official ‘safe distance’ and stay in air for 30 minutes, Chinese study finds”, South China Morning Post, https://www.scmp.com/news/china/science/article/3074351/coronavirus-can-travel-twice-far-official-safe-distance-and-stay, Accessed by May,11 2020

[9] “Indonesia orders COVID-19 transport curbs ahead of Ramadan exodus”, channelnewsasia, https://www.channelnewsasia.com/news/asia/coronavirus-covid-19-indonesia-transport-ramadan-12634982, Accessed by May,11 2020

[10] “The COVID-19 outbreak and implications to sustainable urban mobility – some observations”, Transformative Urban Mobility Initiative, https://www.transformative-mobility.org/news/the-covid-19-outbreak-and-implications-to-public-transport-some-observations, Accessed by May,11 2020


ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)

1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง
10ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
11ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19
125 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”
13การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?
14จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย
15จะดูแลคุณภาพชีวิตเด็กไทยอย่างไรในวันที่ ปิดโรงเรียน จากโควิด-19?